วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554
มวยไทยโคราช
มวยไทยโคราช มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะชาวไทยมีการฝึกการต่อสู้ด้วยอาวุธสั้นประกอบกับศิลปะมวยไทย โดยมีเป้าหมายในการปกป้องประเทศชาติ อีกทั้ง
โคราชเป็นเมืองหน้าด่านชั้นเอกที่ต้องทำการรบกับผู้รุกรานอยู่เสมอ จึงทำให้ชาวโคราชมีความเป็นนักสู้โดยสายเลือดมาหลายชั่วอายุคน
เมื่อบ้านเมืองสงบ มวยไทยจึงพัฒนามาเป็นศิลปะวัฒนธรรมทางการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติไทย ด้วยเหตุเพราะคนไทยในสมัยโบราณ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ลงมาจนถึงพลเมือง ทั้งชายและหญิงต้องฝึกการต่อสู้ป้องกันตัวให้เจนจัด ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นห้วงเวลาที่มวยคาดเชือกรุ่งเรือง มีการจัดแข่งขันมวยคาดเชือกหน้าพระที่นั่ง ณ บริเวณหน้าพลับพลาทรงธรรม สวนมิสกวัน ในงานศพของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ในวันที่ 18 มีนาคม ร.ศ.128 (พ.ศ. 2452) โดยให้หัวเมืองทั่วประเทศคัดเลือกนักมวยฝีมือดีเข้าแข่งขัน นักมวยฝีมือดีชนะคู่ต่อสู้หลายคนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงโปรดฯ พระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ เป็น “ขุนหมื่นครูมวย” ถือศักดินา 300 จำนวน 3 คน คือ นายปรง จำนงทอง จากเมืองไชยา เป็น “หมื่นมวยมีชื่อ” นายกลึง โตสะอาด จากเมืองลพบุรี เป็น “หมื่นมือแม่นหมัด” และนักมวยจากเมืองโคราช นายแดง ไทยประเสริฐ ลูกศิษย์ของพระเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราชเป็น “หมื่นชงัดเชิงชก” นอกนั้นยังมีนักมวยจากเมืองโคราชอีกหลายคนที่มีฝีมือดีเยี่ยมจนมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศที่เดินทางเข้าไปฝึกซ้อมมวยกับกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ณ วังเปรมประชากร เช่นนายทับ จำเกาะ นายยัง หาญทะเล นายบัว วัดอิ่ม (นิลอาชา) นายตู้ ไทยประเสริฐ นายพูน ศักดา
วิธีฝึกมวยสายโคราชโดยอาศัยธรรมชาติในสมัยโบราณ
อาศัยเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ตลอดจนสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เข้ามาช่วยในการฝึกผสมผสานกันไป เช่น ตักน้ำ กระเดียดน้ำ ตำข้าว ผ่าฟืน ปีนต้นมะพร้าว ปีนต้นหมาก ฝึกประสาทส่วนต่าง ๆ ให้ตื่นตัวอยู่เสมอ วิ่งไปตามท้องไร่ท้องนา นอนเกลือกกลิ้งบนหญ้าที่มีน้ำค้างเกาะในยามเช้า นั่งขัดสมาธิใช้ดวงตาเพ่งมองไปยังดวงอาทิตย์ตอนเช้ามืดโดย ไม่กระพริบตา วิ่งตามชายหาดแม่น้ำ วิ่งในน้ำตื้นมองตามเท้าโดยกระแทกเท้าให้มองเห็นพื้นทุกก้าว วิ่งลุยน้ำลึกเท่าที่จะลึกได้ ใช้มือซ้าย ขวาสับน้ำให้กระเด็นเข้าตาโดยลืมตาสู้น้ำ การฝึกทักษะการปั้นหมัด การยืน การชกต่อย การศอก การเข่า การเตะ ใช้ผ้าขาวม้าพันหมัดทั้งสองหมัดพาดผ่านคอด้านหลัง ยกหมัดตั้งท่า และเคลื่อนที่ก้าวเท้าพร้อมกับ เคลื่อนหมัดขึ้นลงตามท่าที่ครูมวยสอน ใช้ผ้าขาวม้าพันมือชกกับคู่ ใช้ลูกมะนาว 10 ลูกผูกกับด้ายแขวนห้อยกับราวไม้รวกให้ต่อยและศอกโดยไม่ให้ลูกมะนาวหลุด ไม่ให้ด้ายพันกันและไม่ให้ลูกมะนาวถูกหน้า ใช้ต้นกล้วยตัดเป็นท่อนมาตั้งไว้แล้วให้นักมวยฝึกเตะ ฝึกตีเข่า โดยไม่ให้ต้นกล้วยล้ม จับคู่กอดปล้ำ ฟันศอก ตีเข่า ต้องฝึกหัดด้วยความยากลำบากและใช้เวลานานหลายปี โดยทั่วไปจะใช้เวลาฝึกประมาณ 3 ปี ครูเอาใจใส่สั่งสอนตั้งแต่ขั้นต้น ไม่มีการเรียนลัด สถานที่ฝึกนิยมตามราชสำนัก วัด บ้านครูมวย และสำนักมวยต่าง ๆ
มวยโคราช ครูมวยประดิษฐ์ท่ามวยเก่งและแก้ไขทางมวยของสำนักอื่นได้ดีจึงทำให้มีชื่อเสียง การคิดค้นหาวิธีแก้ทางมวยซึ่งกันและกัน ทำให้วงการมวยโคราชโบราณมีความเจริญรุ่งเรือง ครูมวยโคราชมีวิธีแก้ไขทางมวยด้วยวิธีผ่อนหนักให้เป็นเบา และเสริมจากเบาให้ทวีเป็นความหนักหน่วงและรุนแรงได้ เรียกว่า “วิธีผสมแรง” และ “วิธีถ่ายแรง” นักมวยที่ดีจะต้องมีความคิด รู้จักการแลกใช้ส่วนหนาแลกส่วนบาง เขาแรงมา ทำให้ทุเลาหรือตอบโต้ให้รุนแรงได้
การแต่งกายและการพันมือแบบคาดเชือกนั้น ครูมวยไทยโคราชใช้ด้ายดิบแช่น้ำข้าว ทำให้แข็ง พันไว้ที่มือเรียกกันว่า “ คาดเชือก” เพื่อป้องกันการเคล็ด ยอก ซ้น และเสริมให้หมัดแข็ง ด้ายดิบจะผูกเป็นไจเส้นโตเท่าดินสอดำยาวประมาณ 20 – 25 เมตร
สวมกางเกงขาสั้นและใช้ผ้าขาวม้าม้วนผูกเป็นนวมทับอย่างแน่นหนาป้องกันลูกอัณฑะปกคลุมมาจนถึงบั้นเอว ไม่สวมเสื้อ ปลายเท้าเปลือยเปล่า ต่อมาได้ทำเป็นเบาะรูป 3 เหลี่ยม ใช้เชือกผูกชายมุมทั้ง 3 มุม ใช้แทนกระจับ มีผ้าประเจียดมัดไว้ที่ต้นแขนซ้ายและขวา สวมมงคลตลอดเวลาที่ชก เพราะมงคลถือเป็นเครื่องรางอย่างหนึ่ง บางทีมงคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหล่นจากศีรษะ ทั้งสองฝ่ายจะหยุดชก เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่มงคลหล่นเก็บขึ้นมาใส่ใหม่
ท่ารำมวยโดยทั่ว ๆ ไปมีท่าย่างสามขุม และท่าพรหมสี่หน้า ซึ่งจะต้องปฏิบัติก่อนการชกทุกครั้งจนถือเป็นประเพณี ส่วนรูปแบบวิธีการชกและท่าทางการต่อสู้ป้องกันตัวของนักมวยโคราชนั้น การจดมวยนิยมจดมวยทางหนา ทิ้งเท้าเข่างอเล็กน้อย ลำตัวหันเข้าหาคู่ต่อสู้เต็มตัว น้ำหนัก
อยู่ที่เท้าหน้า ส้นเท้าหลังเขย่ง เท้าไหนออกหน้าหมัดข้างนั้นจะต้องจดอยู่ด้านหน้า มีท่าทางจดมวยแบบเหยียดขาเขย่งบนปลายเท้า เตะได้รุนแรงและอันตรายที่เรียกว่าเตะคอขาด มีความสง่างามน่าเกรงขามเป็นอย่างยิ่ง การรุกเข้าออก โดยใช้ท่าเท้า ทำให้ผู้ที่ฝึกจนชำนาญสามารถใช้วิธีถ่ายแรงคู่ต่อสู้ที่ใช้อาวุธมาให้ผ่อนจากหนักเป็นเบาได้ และสามารถใช้วิธีผสมแรง เมื่อคู่ต่อสู้เข้าทำ ทำให้เกิดแรงบวก ทำให้ใช้อาวุธได้หนักหน่วงและรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้วยังสามารถออกอาวุธยืดหยุ่นโดยผสมท่าเท้า รั้งเข้า รั้งออก ได้ดังใจปรารถนาอีกด้วย ครูมวยไทยโคราชโบราณเรียกวิธีรั้งเข้า ออก นี้ว่า “สำรอกกลับ” ซึ่งลักษณะการใช้ทำให้คู่ต่อสู้หลงคิดว่าเสียหลักถลำตัวไปแล้วก็จะเข้าซ้ำเติม ก็จะถูกใช้วิชาสำรอกกลับนี้โดยไม่ได้คาดคิด เกิดการเพลี่ยงพล้ำ ฉะนั้น การรำมวยประกอบท่าเท้าย่างสามขุมจึงสำคัญและเป็นท่าแม่บทเบื้องต้นของมวยสายโคราช ผู้จะศึกษาต้องฝึกให้เกิดความชำนาญเสียก่อน เพื่อจะได้เป็นรากฐานทางมวย ที่ดีและมีความสามารถ การจดมวยควรปฏิบัติให้เกิดความคล่องทั้ง 2 เหลี่ยม คือ จดมวยเหลี่ยมขวา และจดมวยเหลี่ยมซ้าย
ในด้านเอกลักษณ์ของมวยไทยโคราชที่พิเศษที่แตกต่างไปจากมวยภาคอื่น ๆ คือการพันหมัดแบบคาดเชือกตั้งแต่หมัดขึ้นไปจรดข้อศอก เพราะทางมวยไทยโคราช เป็นมวยต่อย เตะวงกว้างและใช้ “หมัดเหวี่ยงควาย” การพันเชือกเช่นนี้เป็นการป้องกันเตะ ต่อยได้ดี เมื่อเกิดความคล่องแคล่วแล้วทำพิธียกครู แล้วให้ย่างสามขุม และฝึกท่าอยู่กับที่ 5 ท่า ท่าเคลื่อนที่ 5 ท่า ฝึกลูกไม้แก้ทางมวย 11 ท่า ฝึกท่าแม่ไม้สำคัญ ประกอบด้วย ท่าแม่ไม้ครู 5 ท่า และท่าแม่ไม้สำคัญโบราณ 21 ท่า
วิธีจัดการชกมวย นิยมจัดชกในงานศพ จัดที่ลานวัด การเปรียบมวยให้ทหารตีฆ้อง
ไปตามหมู่บ้านแล้วร้องบอกให้ทราบไปทั่วกัน เมื่อเปรียบได้แล้วให้นักมวยชกประลองฝีมือกันก่อน ไม่มีการชั่งน้ำหนัก ตัวเล็กตัวใหญ่ไม่สำคัญ หากฝีมือทัดเทียมกันก็ให้ชก แล้วนัดวันมาชก ในการเปรียบมวยไม่มีกฎกติกาที่แน่นอน หากพอใจก็ชกกันได้ รางวัลการแข่งขันเป็นสิ่งของเงินทองแต่ก็ไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับฝีมือ ใครชกดีก็ได้รางวัลมากคนละหลายชั่ง คู่ใดที่ชกไม่ดี จะจ่ายเพียง 1 บาท ให้ไปแบ่งกัน คนละ 2 สลึง ถ้าคู่ใดชกได้ดุเดือดก็จะได้เงินรางวัลเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากเป็นการชกหน้าพระที่นั่งรางวัลที่ได้รับก็จะเป็นหัวเสือและสร้อยเงิน
การแบ่งยุคของมวยไทยโคราชออกเป็น 4 ยุค ดังนี้
1) มวยไทยโคราชยุคเริ่มต้น (สมัยรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4) คุณหญิงโม ได้นำชาวเมืองโคราชเข้าต่อสู้กับกองทัพทหารของเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทร์ ซึ่งยกทัพมากวาดต้อนพลเมืองชาวโคราชไปเวียงจันทร์ จนได้รับชัยชนะที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ต่อมาคุณหญิงโมได้รับการปูนบำเหน็จให้สถาปนาเป็น “ท้าวสุรนารี”
2) มวยไทยโคราชยุครุ่งเรือง (รัชกาลที่ 5 – รัชกาลที่ 6) เป็นยุคที่มวยไทยโคราชและมวยไทยภาคอื่นๆ ซึ่งชกกันในแบบคาดเชือกเจริญพัฒนารุ่งเรืองสูงสุด มีนักมวยฝีมือดีจากเมืองโคราชลูกศิษย์ของพระเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราช เดินทางเข้าไปฝึกซ้อมอยู่ที่วังเปรมประชากรของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์หลายคน เป็นที่พอพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 กรมหลวงชุมพร รวมถึงประชาชนทั่วประเทศเป็นอย่างยิ่งจนหาคู่ชกแทบไม่มี
3) มวยไทยโคราชยุคเริ่มต้นสวมนวม (รัชกาลที่ 6 – รัชกาลที่ 8) มีการนำเอานวมสวมชกแทนการคาดเชือก มีนักมวยจากนครราชสีมาเดินทางไปชกในกรุงเทพฯหลายคนมีการสอนมวยไทยโคราชในโรงเรียนนายร้อย จปร. มีคณะมวยเกิดขึ้นหลายคณะเช่น เทียมกำแหง อุดมศักดิ์ แขวงมีชัย สิงหพัลลภ สินสุวรรณ ลูกโนนไทย ฯลฯ
4) มวยไทยโคราชยุคฟื้นฟูอนุรักษ์ (รัชกาล ที่ 9 – ปัจจุบัน) ไม่มีการฝึกหัดศิลปะมวยไทยโคราชแบบคาดเชือกในสมัยโบราณในเขตพื้นที่เมืองโคราชหรือจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ทั้งๆที่ในสมัยโบราณนั้นมวยสายโคราชมีความเก่งกล้าสามารถเป็นเลิศ แต่เป็นยุคที่มีเวทีจัดการแข่งขันมวยไทยอยู่ทุกหนทุกแห่งโดยทั่วไป การฝึกซ้อมและการจัดแข่งขันเน้นไปในทางธุรกิจเป็นสำคัญมากกว่าที่จะเน้นใน
ด้านศิลปะแม่ไม้มวยไทยโคราชคาดเชือก แต่ยังมีลูกศิษย์ครูบัว วัดอิ่ม (นิลอาชา) ที่ได้รับต้นฉบับตำรามวยไทยโคราช ซึ่งเขียนด้วยลายมือครูบัว คือ พ.อ.อำนาจ พุกศรีสุข ทำการถ่ายทอดศิลปะมวยไทยโคราชให้กับผู้ที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ และสืบทอด อยู่ที่สถาบันสยามยุทธ กรุงเทพฯ และนายเช้า วาทโยธา ลูกศิษย์ของ พ.อ.อำนาจ พุกศรีสุข ทำการฝึกหัดอยู่ที่โรงเรียนบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ทุกวัน
มวยโคราช มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่างไปจากมวยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมวยไชยา มวยลพบุรี มวยท่าเสา หรือแม้กระทั่งมวยพระนคร ด้วยเหตุที่เมืองโคราชมักถูกข้าศึกรุกรานข่มเหงอยู่เนืองๆ ไม่ได้ว่างเว้นจากศึกสงคราม ทำให้ต้องเป็นนักรบ ซึ่งนักรบต้องฝึกฝนมวยไทยเพื่อนำไปเป็นองค์ประกอบประกอบกับการต่อสู้ด้วยอาวุธไทยโบราณชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระบี่ กระบอง พลอง ง้าว แหลน หลาว ไม้สั้น มีด เคียว หอก ดาบ จอบ เสียม ฯลฯ ซึ่งเป็นอาวุธสั้นต่อสู้ในระยะประชิดตัวทั้งสิ้น และต้องใช้ศิลปะมวยไทยเข้าประกอบจึงจะเกิดอานุภาพในการรบได้ดี
ในส่วนไม้มวยไทยตำหรับโคราช หมัดเป็นอวัยวะและอาวุธที่สำคัญยิ่ง ส่วนเท้าเป็นอาวุธยาวที่ใช้ในการเตะ ถีบ และใช้เคลื่อนไหวไปมา การถีบแบบมวยโคราชนั้นคือท่าถีบสลัดซึ่งเป็น ท่าถีบแบบโบราณที่ใช้เป็นอาวุธทำลายเกราะป้องกันของคู่ต่อสู้ได้ ส่วนเข่าฝึกให้โยนได้ทั้งซ้ายและขวาและศอกเป็นอาวุธสั้นที่ใช้ในระยะประชิดตัวที่ทรงอนุภาพมาก ศอกใช้ตีและถอง
เกี่ยวกับท่ารำมวยโดยทั่วๆไปนั้นมีท่าย่างสามขุมและท่าพรหมสี่หน้า ครูมวยจะกำหนดให้ผู้ที่จะมาเป็นศิษย์ได้ฝึกหัดท่ารำมวยให้คล่องแคล่วเสียก่อน จึงจะค่อยฝึกท่าลูกไม้และแม่ไม้สำคัญเป็นประการต่อไป ท่ารำมวยย่างสามขุม นอกจากจะเป็นท่ารำมวยอันเป็นต้นแบบของตำรามวยไทยสายโคราชแล้ว ยังเป็นวิชาท่าเท้าแม่บทที่สำคัญ จะทำให้ผู้ฝึกเคลื่อนไหวไปมาโดยสัมพันธ์กับร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว ผู้ฝึกเมื่อทำได้จนเกิดความชำนาญแล้ว จะสามารถใช้อาวุธเช่นหมัด เท้า เข่า ศอก ฯลฯ ได้ทั้งทางซ้ายและทางขวา การเข้า ออก ของทางมวยโคราชนั้นจะเข้าออกในลักษณะฉากซ้าย และฉากขวา
การฝึกมวยไทยตำหรับโคราช มีแนวการฝึกอยู่ 3 ขั้นตอน รวมทั้งสิ้น 47 ท่า ด้วยกัน คือ
1.ฝึกท่าการใช้อาวุธเบื้องต้น ได้แก่
ก. ท่าอยู่กับที่ 5 ท่า ประกอบด้วย
1.ท่าต่อยตรงอยู่กับที่
2.ท่าต่อยเหวี่ยงอยู่กับที่
3.ท่าต่อยขึ้นอยู่กับที่
4.ท่าต่อยด้วยศอกอยู่กับที่
5.ท่าถองลงอยู่กับที่
ข. ท่าเคลื่อนที่ 5 ท่า ประกอบด้วย
1.ท่าต่อยตรงสลับกันเคลื่อนที่
2.ท่าเตะเหวี่ยงกลับด้วยศอกเคลื่อนที่
3.ท่าต่อยด้วยศอกและเข่าเคลื่อนที่
4.ท่าเตะสลับกันเคลื่อนที่
5.ท่าเตะแล้วต่อยตามพลิกตัวไปกัน
2. ฝึกลูกไม้แก้ทางมวย 11 ท่า จะต้องใช้การฝึกร่วมกับคู่ซ้อม โดยผลัดเปลี่ยนกันรุก และผลัดเปลี่ยนการตั้งรับ ประกอบด้วย
1.ท่ารับต่อยตรงด้วยการใช้เท้าถีบรับ
2.ท่ารับต่อยเหวี่ยงใช้หมัดตรงตอบรับ
3.ท่าต่อยเหวี่ยงแล้วเตะตามใช้หมัดตรงชกแก้
4.ท่ารับลูกเตะ
5.ท่าเตะแลกเปลี่ยนอยู่กับที่
6.ท่าเตะฝากหนึ่ง
7.ท่าเตะฝากสอง
8.ท่ารับลูกเตะฝากหนึ่ง
9.ท่าเตะปัด
10.ท่าทัศมาลาแก้ลูกเตะสูง
11.ท่าลูกตอแหล
3. ฝึกท่าแม่ไม้สำคัญ ได้แก่
ก. ท่าแม่ไม้ครู 5 ท่า ประกอบด้วย
ท่าที่ 1 ชักหมัดมา เตะตีนหน้าพร้อมหมัดชัก
ท่าที่ 2 ชักปิดปกด้วยศอก
ท่าที่ 3 ชกห้ามไหล่
ท่าที่ 4 เมื่อเข้าให้ชกนอกเมื่อออกให้ชกใน
ท่าที่ 5 ชกช้างประสานงา
ข. ท่าแม่ไม้สำคัญแบบโบราณ 21 ท่า ประกอบด้วย
ท่าที่ 1 ทัศมาลา
ท่าที่ 2 กาฉีกรัง
ท่าที่ 3 หนุมานถวายแหวน
ท่าที่ 4 ล้มพลอยอาย
ท่าที่ 5 ลิงชิงลูกไม้
ท่าที่ 6 กุมกัณฑ์หักหอก
ท่าที่ 7 ฤๅษีมุดสระ
ท่าที่ 8 ทศกัณฑ์โศก
ท่าที่ 9 ตะเพียนแฝงตอ
ท่าที่ 10 นกคุ้มเข้ารัง
ท่าที่ 11 คชสารกวาดหญ้า
ท่าที่ 12 หักหลักเพ็ชร
ท่าที่ 13 คชสารแทงโรง
ท่าที่ 14 หนุมานแหวกฟอง
ท่าที่ 15 ลิงพลิ้ว
ท่าที่ 16 กาลอดบ่วง
ท่าที่ 17 หนุมานแบกพระ
ท่าที่ 18 หนูไต่ราว
ท่าที่ 19 ตลบนก
ท่าที่ 20 หนุมานถอนตอ
ท่าที่ 21 โกหก
รายชื่อครูมวยไทยโคราชในสมัยรัชกาลที่ 5 – รัชกาลที่ 6
1.พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
2.พระเหมสมาหาร
3.พระยากำแหงสงคราม (จัน ณ ราชสีมา)
4.หมื่นชงัดเชิงชก (นายแดง ไทยประเสริฐ)
5.นายยัง หาญทะเล
6.นายทับ จำเกาะ
7.นายตู้ ไทยประเสริฐ
8.ร.ท. บัว นิลอาชา (วัดอิ่ม)
9.นายผวน กาญจนากาศ
10.นายสุข ปราสาทหินพิมาย
11.นายวิหค เทียมกำแหง
12.นายประยุทธ อุดมศั
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น