วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

"ชัยศักดิ์ เช " (Choi Young Seok) ผู้ยกระดับมาตรฐานเทควันโด้ไทย



เทควันโดไทยเคยเป็นเพียงไม้ประดับในโอลิมปิกเกมส์แต่ หลังจาก น้องวิว-เยาวภา บุรพลชัย ได้เหรียญทองแดงในโอลิมปิก เอเธนส์เกมส์ 2004 ที่กรีซ และล่าสุด น้องสอง-บุตรี เผือดผ่อง ก็คว้าเหรียญเงินโอลิมปิกจากปักกิ่งเกมส์ได้อีก ทั้งนี้กับความสำเร็จของทัพเทควันโดไทยนั้น มีชายเลือดเกาหลีที่ชื่อ “เช ยอง ซอค” เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง วันนี้ทีม “วิถีชีวิต” มีแง่มุมชีวิตชายผู้นี้มานำเสนอ...


เช ยอง ซอค (Choi Young Seok) หรือ “โค้ชเช” ซึ่งพูดไทยได้ บอกเราว่า คนไทยมักเรียกชื่อท้ายเขาผิด มักเพี้ยนจากคำว่า “ซอค” เป็น   “ซุก” ซึ่งที่จริงไม่ใช่ซุก เพราะคำนี้ใช้กับชื่อผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทยเขาก็มีอีกชื่อหนึ่งที่เป็นชื่อไทย ที่นักกีฬาตั้งให้ คือ “ชัยศักดิ์” ซึ่งเป็นชื่อดี หมายถึงชัยชนะ

โค้ชเชเล่าประวัติส่วนตัวให้ฟังว่า เกิดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2517 ตอนนี้ก็อายุ 34 ปีเศษแล้ว เขาเป็นคนกรุงโซล มีพี่น้อง 2 คน ปัจจุบันพ่อและแม่เสียชีวิตไปหมดแล้ว เหลือเพียงพี่สาวที่อาศัยอยู่ที่เกาหลีใต้เพียงคนเดียว ด้านชีวิตครอบครัวส่วนตัวโค้ชเชเปิดเผยว่าแต่งงานแล้วกับภรรยาชาวเกาหลีใต้ และอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ด้วยกัน โดยภรรยาชื่อ ปาร์ค อึง ยอง แต่ยังไม่มีลูก ซึ่งภรรยาเคยตั้งท้องถึง 3 ครั้ง แต่ก็แท้งทั้ง 3 ครั้งเพราะร่างกายไม่แข็งแรง “เรื่องมีลูกนี่เป็นอีกความหวังที่หวังไว้มาก พอ ๆ กับเหรียญทองโอลิมปิก”

“เวลากลับไปเจอเพื่อนที่เกาหลี เห็นเขามี ลูก ๆ ผมก็อยากมีกับเขาบ้าง ผมคิดไว้ว่าคงดีไม่น้อยถ้ามีลูก ๆ มาวิ่งเล่นให้ผมเห็น เวลาผมกลับบ้านเหนื่อย ๆ” โค้ชเชกล่าว ก่อนจะเล่าอีกว่า ปกติเขาจะต้องทำงานวันจันทร์-เสาร์ ส่วนวันอาทิตย์ถ้าว่างหรือไม่เหนื่อยเกินไปก็จะพาภรรยาไปเดินเล่น ซื้อของ หรือบางครั้งก็ไปเที่ยวต่างจังหวัด ชอบทะเล ที่ชอบไปมากคือพัทยา และก็อยากไปเกาะสมุย หัวหิน เพราะดูจากหนังสือแล้วทะเลสวย

ชีวิตวัยเด็กของโค้ชเช เขาโตมาในครอบครัวที่ยากจน พออายุได้ 7 ขวบ บิดาก็เสียชีวิต ทำให้คุณแม่ต้องแบกรับภาระครอบครัวเพื่อส่งเสียให้เขาและพี่สาวได้เรียนสูง ๆ และการที่เห็นแม่ต้องทำงานหนักทำให้เขาตั้งใจว่าต้องเป็นนักกีฬาเพื่อจะได้ทุนเรียนฟรี เพื่อแบ่งเบาภาระของทางบ้าน ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองเคยใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจมากกว่า ซึ่งกับกีฬาเทควันโดเขาเริ่มเรียนช้ากว่าคนอื่น ๆ โดยเริ่มตอนอายุ 11 ขวบ ขณะที่เด็กเกาหลีทั่วไปจะเริ่มกันตอนอายุ 7-9 ขวบเท่านั้น แต่หลังจากเริ่มเรียนและฝึกซ้อมอย่างหนัก เพียง 3 เดือนต่อมาเขาก็ได้ลงแข่งชิงแชมป์ระดับประเทศกับเด็กเกาหลีอีกเกือบ 500 คน และก็ได้เหรียญทองแดงมาเป็นรางวัล เป็นเหรียญแรกในชีวิต จากนั้นเขาก็เริ่มจริงจังและมุ่งมั่น จนเรียนจบระดับปริญญาได้โดยไม่ต้องอาศัยเงินทางบ้าน

“ถ้าวันนี้คุณแม่ยังอยู่ ผมเชื่อว่าเขาจะต้องภูมิใจในตัวลูกชายคนนี้มากขึ้นอีก” โค้ชเชกล่าว
 
 กับเส้นทางการเข้ามาทำทีมเทควันโดไทยนั้น เชื่อหรือไม่ว่าการเข้ามาของเขาเริ่มจากถูกส่งมาเป็น      “มวยแทน” แทนโค้ชคนเก่าที่ขอยกเลิกสัญญา ก่อนหน้าการแข่งเอเชี่ยนเกมส์ 2002 จะเริ่มขึ้นเพียง 8 เดือน
โค้ชเชเข้ามาทำทีมโดยมีการติดต่อผ่าน World Taekwondo   Federation (WTF) ก่อนหน้าที่จะมาทำทีมชาติไทยโค้ชเชเพิ่งจะหมดสัญญากับบาห์เรน และเดินทาง กลับไปเกาหลีใต้ ซึ่งตอนที่เขาเป็นโค้ชทีมชาติให้บาห์เรนนั้นเขาถูกบันทึกว่าเป็นโค้ชระดับชาติคนแรกที่อายุน้อยที่สุดในโลก ด้วยวัย 27 ปี เขาบอกว่าตอนที่เข้ามาไทยนั้นเทควันโดในไทยยังไม่บูม สมาคมก็มีปัญหามาก พอโค้ชคนเก่าออก นักกีฬาชุดเดิมเกือบทั้งหมดก็ขอลาออก เหลือแต่นักกีฬาที่เป็นคู่ซ้อมกับนักกีฬาเด็กที่บางคนยังไม่ได้สายดำด้วยซ้ำ อาทิ น้องจิ๊บ-ชลนภัส เปรมแหวว, น้องวิว-เยาวภา บุรพลชัย อีกทั้งเวลาก็จำกัด จึงเป็นงานหนักและหินมาก

“คิดว่าหาประสบการณ์ แต่ก็ทำเต็มที่ ตอนนั้น 8 เดือนนี่หนักมาก อึดอัด เครียด จนจบเอเชี่ยนเกมส์แม้ผลงานจะดีแต่ก็ยังคิดอยู่ว่าจะเลิกดีไหม สัญญาก็หมดแล้ว แต่ผู้ใหญ่และนักกีฬามาขอว่าให้ช่วยทำทีมต่อ ก็เลยตัดสินใจอยู่ วันนั้นถ้าไม่มีใครหนุนผมก็คงไปแล้ว เพราะที่เกาหลีผมก็มีอาชีพเป็นโค้ชมหาวิทยาลัยอยู่ ตอนนั้นไม่คิดเลยว่าจะอยู่เมืองไทยยาวนานเกือบ 7 ปีแล้ว” หนุ่มกิมจิที่มาซดต้มยำกุ้งอยู่ในไทยหลายปีแล้วกล่าว

พูดถึงโค้ชต่างประเทศที่เข้ามาเป็นผู้ฝึกสอนนักกีฬาไทย ที่คนไทยชื่นชม ตอนนี้เชื่อว่าชื่อของ โค้ชเช-เช ยอง ซอค ต้องติดโผในอันดับต้น ๆ ยิ่งมีกระแสเกาหลีฟีเวอร์ในบ้านเรา ชื่อเสียงของโค้ชเชก็ยิ่งถูกกล่าวขวัญถึงกันมากขึ้น โดยเฉพาะกับสาว ๆ ซึ่งโค้ชเชเผยความรู้สึกเรื่องนี้ว่า...

“เขินครับ อายด้วย ไม่ชอบด้วย คือผมเป็นนักกีฬา ผมเป็นโค้ช มีหน้าที่ฝึกสอนนักกีฬา ไม่ได้เป็นดาราเลยทำตัวไม่ถูกครับ เวลาไปไหนมาไหนแล้วมีคนเข้ามาทักทาย มาขอถ่ายรูป แรก ๆ ภรรยาเขาก็ไม่ชอบ เพราะเวลาส่วนตัวมีให้เขาน้อยมาก เขาก็อยากเป็นส่วนตัว แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรนะครับ เขาก็เข้าใจดี เขาก็เข้าใจว่าเพราะเราทำงานดี ผลงานออกมาดี ก็เลยมีคนไทยชื่นชม”

เมื่อถามว่าผลงานเทควันโดไทยที่ทำได้ดีมาตลอด กลายเป็นอีกกีฬาความหวังของไทย จะทำให้กดดันมากขึ้นหรือ   ไม่ ? โค้ชเชบอกว่าไม่หนักใจ ทำตามหน้าที่อย่างดีที่สุด ทุกครั้ง ส่วนเรื่องสัญญา เรื่องมีข่าวว่าหลายประเทศสนใจดึงตัวเขาไป เขากล่าวว่าถึงวันนี้อยู่กับนักกีฬาไทยมาเกือบ 7 ปี ทำงานก็มีความสุขดี ดังนั้นถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากไปไหน ไม่อยากไปสอนใครให้มาชนะลูกศิษย์ตัวเอง และที่นี่ก็ผูกพันกันมากกว่านักกีฬากับโค้ช

“ทุกวันนี้ผมเกือบจะคิดว่าผมเป็นคนไทยแล้วด้วยซ้ำ อยากขอบคุณคนไทยที่ไว้ใจผม สนับสนุนผม ผมสัญญาว่าจะทำเต็มที่ ผมคิดว่าทีมเราก็เหมือนบันได ต้องไปทีละขั้น ปี 2004 เราได้เหรียญทองแดง ปี 2008 เหรียญเงิน เราก็หวังว่าทีมเทควันโดไทยจะมีโอกาสได้ร้องเพลงชาติไทยในโอลิมปิก 2012 กันสักที”...เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายจาก “โค้ชเช” ที่ได้ฉายาว่า “โค้ชจอมเนี้ยบ-จอมเฮี้ยบ”.

เนี้ยบ-เฮี้ยบ...แต่ก็มีตลก


 “น้องสอง-บุตรี เผือดผ่อง” พูดถึงโค้ชเชว่า รู้สึกประทับใจทั้งในและนอกสนาม แม้จะเป็นโค้ชที่ดุมาก โค้ชจะไม่ค่อยแสดงออกเวลาเราได้เหรียญ ก็แค่ยิ้มให้หรือกอดเบา ๆ “แต่แค่นี้เราก็รู้ว่าโค้ชก็ดีใจ”

ด้าน “ชัชวาล ขาวลออ” บอกว่า “อยากให้โค้ชเชทำทีมไทยต่อแน่นอน” ไปถามนักกีฬารุ่นก่อน ๆ หรือรุ่นปัจจุบัน ก็เชื่อว่าจะพูดเหมือนกัน ขณะที่ “ชลนภัส เปรมแหวว” อีกหนึ่งนักเทควันโดทีมชาติไทย กล่าวว่า โค้ชเชทำทุกอย่างเพื่อนักกีฬาไทย เคยโดนโค้ชทำโทษเพราะคุยโทรศัพท์ก่อนเข้านอน ซึ่งตอนนั้นไม่เข้าใจ แต่ตอนหลังโค้ชมาอธิบายว่าที่ต้องทำโทษเพราะอยากให้พักผ่อนมาก ๆ รุ่งขึ้นจะได้ซ้อมอย่างเต็มที่

“แต่บางครั้งโค้ชก็จะใจดีมาก ช่วงที่พักแข่งก็จะทำอะไรตลก ๆ ให้นักกีฬาได้คลายเครียดตลอด ส่วนในสนามก็จะเป็นคนที่เก่งมาก” ...เป็นอีกคำบอกเล่าเกี่ยวกับตัว    “โค้ชเช”











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น