วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กรรมการสิทธิ์ฯ ต้าน เด็กต่ำ 15 ขึ้นชกมวยอาชีพ ชี้ผิดกฎหมาย" คุณเห็นด้วยหรือไม่ "

กรรมการสิทธิ์ฯ ต้าน เด็กต่ำ 15  ขึ้นชกมวยอาชีพ ชี้ผิดกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะว่า ช่วงบ่ายที่ผ่านมา นางวิสา เบ็ญจมะโน กสม.ด้านสิทธิเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและความเสมอภาคของบุคคล และ นพ.แท้จริง ศิริพานิช กสม.ด้านการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้จัดสัมมนาเวทีสาธารณะ เรื่อง “สิทธิหนูอยู่ไหน กรณีเด็กชกมวย”

โดย ได้ยกกรณีของด.ช.สมเจตน์ ดาจันทรา อายุ 8 ปี นักเรียนชั้นป.2 ร.ร.วัดเมมสุวรรณาราม จ.พิษณุโลก ที่ชกมวยเลี้ยงยายเป็นตัวอย่าง โดยนายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผอ.สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ความกตัญญูของเด็กนั้นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่ความกตัญญูไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยการชกมวยเพียงอย่างเดียว หากเป็นเรื่องศิลปะมวยไทย ทางพม.ก็สนับสนุนเต็มที่ให้เด็กได้เรียนรู้ เพราะเป็นสมบัติของชาติไทย แต่การที่นำเด็กมาขึ้นเวทีเพื่อชกมวยเป็นอาชีพนั้นตนถือว่าเป็นการทำร้ายเด็กบนเวทีที่โหดร้ายของโปรโมเตอร์มวยและเซียนมวยที่ให้เด็กเป็นเหยื่อ เพราะไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย ทั้งนี้เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลและการปกป้อง ไม่ใช่นำเด็กไปเลี้ยงดูผู้อื่น ดังนั้นทางหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีหน้าที่ดูแลเด็กต้องให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่เหมาะสม
ทั้งนี้ เห็นว่าการปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขึ้นเวทีชกมวยตามงานวัด ถือว่าเรื่องนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำผิดกฎหมายหมด เพราะฉะนั้นต้องแยกแยะคำว่าศิลปะมวยไทยให้ได้ เราจึงไม่สนับสนุนให้เด็กขึ้นเวทีไปชกมวยก่อนวัยอันควร สิทธิของเด็กคือได้รับการศึกษาได้รับการดูแลจากครอบครัว ไม่จำเป็นต้องเอาความเจ็บปวดไปแลกกับความกตัญญู หากมีปัญหาเรื่องการศึกษาก็มีทุนการศึกษาช่วยเหลืออยู่” นายสมชาย กล่าว

ขณะที่ ด้านนพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เราต้องนำเด็กมาเป็นศูนย์กลางของเรื่องการชกมวย ทั้งนี้ในเรื่องของการบาดเจ็บด้านสมองแบ่งเป็น2ส่วนได้แก่
1.ส่วนเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะเลือดออกในสมองที่เกิดจากศีรษะได้รับการกระทบอย่างรุนแรง โดยเด็กภาวะเลือดออกในสมองสูงกว่าผู้ใหญ่ 2.ส่วนเรื้อรัง ยกตัวอย่างกรณีของ ร.ต.อ. พเยาว์ พูลธรัตน์ อดีตนักมวยเหรียญทองแดงมวยสากลโอลิมปิกคนแรกของไทยที่สุดท้ายบั้นปลายชีวิตสมองต้องเสื่อมสภาพ เพราะเกิดจากศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนมาเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นการเริ่มชกมวยตั้งแต่อายุน้อยและบ่อยครั้งโอกาสเกิดระยะเรื้อรังจึงมีมาก
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการที่เด็กชกมวยเป็นอาชีพไม่ใช่ข้อดี  ตราบใดที่วงการมวยสอนให้เด็กเอาชนะบนความเดิมพันหรือการพนันของผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่เป็นการเล่นกีฬา รวมทั้งกฎกติกาที่เน้นการบาดเจ็บของเด็ก เช่น ต้องน็อคเอาท์ หรือแจกรางวัลให้ผู้ที่ชนะคู่ต่อสู้ได้นั้น ผมถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะควรจะทำให้มวยเป็นกีฬาที่สามารถเล่นได้ทุกกลุ่มอายุ และมีความปลอดภัยเป็นศิลปะมากกว่า ครูมวย ค่ายมวยและสมาคมมวย ควรจับมือกันเพื่อทำให้มวยเป็นกีฬาสีขาว และจัดระบบการแข่งขันใหม่ไม่เน้นการบาดเจ็บ ใช้วิธีใดก็ได้ให้กีฬามวยไทยได้รับการยกระดับมากขึ้น
โดย Mthai news

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น